หน้าแรก | ติดต่อเรา | ข่าวสาร | บทความ | เว็บบอร์ด | เกี่ยวกับเรา | วิธีการจองงาน      
         ตั้งเป็นหน้าแรก    เครื่องคิดเลข         
   หมวดหมู่สินค้า
   ลิงค์
add friend


add friend
พรชัยหูฉลาม

  รับจัดขั้นต่ำ 10 โต๊ะขึ้นไป จองงานแล้วยกเลิกไม่คืนมัดจำทุกกรณี   

แต่งงานแบบพิธีจีน

คุณจิตรา ก่อนันทเกียรติ ผู้ซึ่งนิยมเรียกตัวเองว่า “นักสะสมความรู้เรื่องจีน” มาให้คำแนะนำไว้ดังนี้

 



ธรรมเนียมแปลว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่นิยมทำ สำหรับธรรมเนียมการแต่งงานแบบจีนนั้นเป็นตัวอย่างธรรมเนียมที่มีการปรับไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัยและความนิยม แล้วแต่สถานะภาพของทั้งฝ่ายหญิงและชาย
มาถึงยุคนี้ ถามว่าคนแซ่เดียวกันแต่งงานกันเองได้ไหม...ตราบใดที่ไม่ใช่พี่น้อง ไม่ใช่ลูกพี่ลูกน้องก็หยวนๆ แต่งงานกันได้ ไม่เป็นไร เพราะแต่ละสกุลเริ่มใหญ่ขึ้น หรือบางสกุลใหญ่มาก ไล่นับญาติกันแทบไม่ถูก

ธรรมเนียมถูกปรับอยู่ตลอดเวลา
จากประสบการณ์การเป็นพิธีกรในงานแต่งงานแบบจีนมาไม่น้อย บอกได้เลยว่าใน 10 ครั้ง ต้องมี 9 ครั้งที่แตกต่าง เพราะธรรมเนียมต้องปรับไปเรื่อยตามยุคสมัย ถ้ายังเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ก็คงไม่มีใครตำหนิ อย่างเช่นเรื่องการเตรียมขนมหวานบอกว่าบางบ้านต้องมี 5 สี 5 อย่าง บางบ้านต้องมี 4 สี 4 อย่าง ส่วนถ้าถามว่าบ้านไหนถูก คุณจิตราบอกว่าขอให้มีขนมก็แล้วกัน
สมัยก่อนหมั้นก่อนเป็นเดือนแล้วค่อยแต่ง เดี๋ยวนี้หมั้นเช้าแต่งเย็น แถมมีแบบไม่หมั้นแต่แต่งเลยก็มี บางยุคพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวเตรียมข้าวของของหมั้นให้เยอะมากจนถึงโลงศพก็มี เพื่อไม่ให้ฝ่ายชายมาดูถูกลูกสาวเขาได้ว่าพ่อแม่ไม่ดูแลรับผิดชอบ แต่ปัจจุบันไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น

 



เรื่องไหนห้ามผิด เรื่องไหนห้ามขาด คุณจิตราบอกว่า
ทุกวันนี้การจัดงานแต่งงานไม่ว่าแบบจีน แบบไทย แบบคริสต์ ล้วนมีมีออร์แกนไนเซอร์เข้ามาเป็นคนกลางจัดให้เสร็จสรรพ บางครั้งคนเหล่านี้ไม่รู้จักธรรมเนียมที่แท้จริง หยิบธรรมเนียมจีนมาผสมกับของไทยให้มั่ว เคยไปบางงานติดตัวหนังสือซังฮี่กลับหัวกลับหางก็ไม่มีใครรู้ แต่เรื่องแบบนี้ไม่รู้ก็แล้วไป แต่ถ้ามีคนรู้แล้วทักต้องจัดให้ถูกต้อง เพราะวันมงคลไม่มีใครต่อว่ากัน ตามคำจีนที่เขาบอกไว้ว่าก่วยๆ หยวนๆ แปลว่าง่ายๆ ไม่เป็นไร
เพราะฉะนั้นในวันแต่งงานไม่มีคำว่า ‘ผิดไม่ได้’ มีแต่สิ่งที่ห้ามขาด อย่างเช่น ต้องมีสีแดง มีสีทองเยอะๆ และทุกอย่างต้องเป็นเลขคู่ ห้ามขาดเลข 4
สำหรับสินสอดทองหมั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร มีก็ดี ไม่มีก็ไม่ผิด เพราะตราบใดที่ช่วยกันทำมาหากินก็รวยได้ บางคนสินสอดเยอะแยะแต่จัดการเรื่องเงินเรื่องทองไม่ลงตัว เลิกกันก็เยอะแยะ

หัวใจหลักของการแต่งงานแบบจีน
สิ่งสำคัญของการแต่งงานไม่ใช่เรื่องของการเตรียมสิ่งของให้พร้อม แต่อยู่ที่การให้เกียรติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมากกว่า ควรถามญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายว่าอยากเห็นอะไรในธรรมเนียมจีน สิ่งไหนที่อยากให้ทำเพื่อความสบายใจบ้าง ถ้าฝ่ายหญิงมีอาม่า มักมีธรรมเนียมค่าน้ำนมข้าวป้อน หรืออั่งเปาค่าน้ำนม เพราะเคยช่วยเลี้ยงหลานคนนี้มา หรือถ้าอาม่าอยากให้มี “โหงวเจ๋งจี้” หรือท่านอยากเห็นเอี๊ยมแดง ก็จัดให้ท่าน จะได้เลี่ยงการตอบคำถามว่าทำไมถึงไม่มี
สิ่งที่อาม่าเคยเห็น และฝังใจว่าดี ถ้าอีกฝ่ายไม่ทำตามนั้น อาม่าอาจเกิดความรู้สึกอคติกับอีกฝ่ายก็ได้ เพราะการที่คนสองคนแต่งงานกันไม่ได้แต่งแค่สองคน แต่เป็นการรวมสองครอบครัวเข้าด้วยกัน ยิ่งวิถีชีวิตของคนจีนถูกสอนให้ผูกพันและกตัญญูกับผู้ใหญ่ อะไรที่ทำแล้วท่านไม่ชอบ ก็เลี่ยงไปดีกว่า ส่วนอะไรที่ทำแล้วได้คะแนน ทำแล้วได้ดีเข้าตัว เกิดความสบายใจกันทุกฝ่าย ก็ควรทำ

 



สถานที่จัดพิธีแต่งงาน
ไม่มีตำราระบุว่าที่ไหนดีกว่าหรือจัดที่ไหนไม่ดี อยู่ที่จำนวนเงินในกระเป๋า ถ้าเงินน้อยจัดที่บ้านดีที่สุด แต่ถ้าคิดว่าในบ้านมีปัญหาอย่างเช่นมี 2 แม่ หรือมีพี่น้องคนละแม่ที่พร้อมจะป่วนในงาน เลือกจัดที่โรงแรมก็ไม่ผิดอะไร
ปัจจุบันนิยมจัดในโรงแรมกันมากขึ้น เพราะเลี่ยงปัญหาเรื่องที่จอดรถ เรื่องห้องน้ำ และเป็นการเลี่ยงการเดินทางที่เสี่ยงกับรถติดและการเกิดอุบัติเหตุ เพราะเคยมีเหตุการณ์รถเจ้าบ่าวเกิดอุบัติเหตุมาไม่ทันฤกษ์ก็มี
ข้อดีอีกอย่างของการจัดในโรงแรมก็คือ สะดวกเรื่องการจัดเลี้ยงเพราะไม่ต้องเก็บกวาด ล้างจานเอง แต่คนที่จัดตามบ้านก็ยังมีอยู่ แต่จำนวนแขกคงไม่มากนัก แล้วค่อยไปเลี้ยงที่โรงแรมหรือตามสโมสรก็แล้วแต่

รู้แนะนำ ของแต่งงานแบบจีน มีแหล่งให้เลือกซื้อตั้งแต่บริเวณวัดเล่งเน่ยยี่เรื่อยไปจนถึงเยาวราช แต่เวลาไปบอกเคล็ดลับให้ว่า บอกคนขายก่อนเลยว่ามีงบเท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นจะโดนแพ็กเกจฟลูออฟฟชั่น ได้ของเกินความจำเป็น ส่วนผักมงคลต้องซื้อที่ตลาดน้อยสัมพันธวงศ์ รับรองมีครบ ผู้ดำเนินการในงานไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รู้จริง แต่ถ้าอยากได้ผู้รู้ หรืออยากจ้างคุณจิตราไปดำเนินการให้ เธอกระซิบบอกค่าตัวว่ารับค่าจ้างเป็นเลข 4 หลักเพราะเป็นตัวเลขมงคลของธรรมเนียมการแต่งงานแบบจีน ส่วนในเลข 4 หลักจะระบุเป็นเลขอะไรบ้างนั้น ต้องคุยกัน

ได้รับคำชี้แนะจากผู้อาวุโสผู้สะสมความรู้เรื่องจีนกันแล้ว ในฐานะศิษย์เอกอย่าง WE ขอถ่ายทอดตำราว่าด้วยการแต่งงานแบบจีนฉบับคร่าวๆ ให้ได้ทราบกันเริ่มจาก...

 



ดูฤกษ์ยามดี
ไม่ว่าจีนหรือไทยเมื่อจะเริ่มต้นเรื่องมงคลทั้งที ฤกษ์ยามมงคลเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เพราะลำดับขั้นของคนจีนเริ่มจากการสู่ขอเหมือนของคนไทย แล้วให้ผู้ใหญ่ฝ่ายชายเอาดวงของทั้งคู่รวมถึงดวงของพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายให้ซินแสทำการ “ซึ้งเมี้ย” (ผูกดวง) เมื่อได้ฤกษ์ยามดีมาแล้ว ฝ่ายชายจะทำการ “ทงใจ๋” คือส่งข่าวรายละเอียดให้ฝ่ายหญิงทราบ ว่าต้องตัดผม ตัดชุดแต่งงาน วันไหนเวลาอะไร เพราะดวงที่ซินแสให้มานั้นจะระบุละเอียดตั้งแต่ฤกษ์แต่งงาน ฤกษ์แต่งหน้าทำผม ฤกษ์ตัดชุด ฤกษ์เข้าหอ และบางครั้งจะมีฤกษ์คลอดลูกมาให้เสร็จสรรพ

เจ้าสาว-เตรียมของออกเรือน
เพื่อไม่ให้ฝ่ายเจ้าบ่าวว่าได้ว่าเจ้าสาวมาแต่ตัว ต้องมีของติดมือไปบ้างตามฐานะ ที่ขาดไม่ได้คือเอี๊ยมแต่งงาน ทำจากผ้าแพรสีแดงตรงกลางเป็นกระเป๋าปักตัวหนังสือ “แป๊ะนี้ไห่เล่า” แปลว่าอยู่กินกันเป็น 100 ปี ในกระเป๋าใส่ “โหงวเจ๋งจี้” เมล็ดพืช 5 อย่าง ห่อกระดาษแดงเสียบปิ่นทอง มีต้นชุงเฉ้า (หน้าตาเหมือนต้นกุยฉ่าย) 2 ต้นเสียบให้ปลายโผล่ขึ้นมา
หากเจ้าสาวมีฐานะดีจะผูกเอี๊ยมด้วยสร้อยคอทองคำ (คุณจิตราแนะนำว่าเศรษฐกิจอย่างปัจจุบันนี้ ใช้ทองปลอมก็ได้ ไม่มีใครว่า)หนัก 4 บาท เพราะเลข 4 เป็นเลขดีออกเสียงพ้องกับคำว่า “สี่” แปลว่าดี ส่วนความหมายของของในเอี๊ยมเป็นเคล็ดให้มีลูกมีหลานสืบสกุล มีความเจริญก้าวหน้า นอกจากนี้ต้องมีของใช้ส่วนตัวของเจ้าสาวติดมือไปด้วย อาทิ กะละมัง ถังน้ำ กระป๋องน้ำ สีแดงอย่างละ 2 ใบ กระโถน 1 ใบ กระจก กรรไกร ด้าย เข็ม ตะเกียบ ชุดน้ำชา เครื่องนอน (หมอนหนุน หมอข้าง ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม) หวี 4 เล่ม “ซี้ซี้อู่หอซิว” แปลว่าทุกๆ เวลาจะมีทรัพย์ และที่สำคัญต้องมีพัดแดงไว้ถือตอนส่งตัว

เจ้าบ่าว-เตรียมเครื่องขันหมาก
ฝ่ายชายจะจัดสินสอดและทองหมั้นให้ตามที่ฝ่ายหญิงเรียก แต่ส่วนใหญ่การเตรียมทองหมั้นจะเตรียมเป็นทอง 4 อย่างที่เรียกว่า “สี่เอี่ยกิม” ซึ่งประกอบด้วย กำไลทอง ต่างหูทอง สร้อยทอง และเข็มขัดทอง
เครื่องขันหมากอื่นๆ นิยมมีส้มเช้งผลเขียว กล้วยทั้งเครือ ถ้าได้กล้วยที่กำลังออกลูก นับแล้วได้เลขคู่ยิ่งดี อ้อย 1 คู่ยกมาทั้งต้น ทั้งหมดติดอักษร “ซังฮี่” สีแดง แปลว่า ความยินดีของคู่บ่าว-สาว
เครื่องของคาว นิยมจัดเป็นชุดหมูสด ประกอบด้วย หัวหมูพร้อมหางและเท้าทั้ง 4 ที่ตัดเล็บเรียบร้อยแล้ว ขาหมู และเนื้อหมูส่วนท้อง ทั้งหมดติดอักษร “ซังฮี่”
ขนมหมั้นขนมแต่งงาน เป็นเรื่องที่ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นผู้กำหนดจะมี 4 ชนิดหรือ 5 ชนิดก็แล้วแต่ เช่นขนม 4 ชนิดจะประกอบไปด้วย ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมเปี๊ยะโรยงา ขนมถั่วตัด ขนมข้าวพองทุบ ถ้า 5 อย่างก็เพิ่มขนมโก๋อ่อนมาอีกอย่างเป็นครบ

ยกขบวนขันหมาก
ถึงวันงาน เจ้าบ่าวในชุดเสื้อคอจีนสีแดงหรือสีทอง ยกขบวนมาบ้านเจ้าสาวเพื่อมอบสินสอดและเครื่องขันหมากที่เตรียมมา ฝ่ายหญิงจะเก็บขนมแต่งงานไว้ครึ่งหนึ่งแล้วมอบให้ญาติ เพื่อบอกเป็นนัยๆว่า “ฉันแต่งงานแล้วนะ” ส่วนอีกครึ่งส่งคืนให้เจ้าบ่าว พร้อมส้มเช้งติดอักษร “ซังฮี่” และต้องให้เอี๊ยมแดงเสียบปิ่นทองไปด้วย (เจ้าบ่าวจะคืนให้ในวันส่งตัว เพื่อให้เจ้าสาวปักผมก่อนออกจากบ้าน)
จากนั้นรอฤกษ์เพื่อสวมแหวนหมั้น และเมื่อผู้ใหญ่ให้พรเสร็จ จึงค่อยเลี้ยงอาหารแขกเป็นอันเสร็จพิธี

พิธีรับตัวเจ้าสาว
วันนี้เจ้าสาวต้องแต่งองค์ทรงเครื่องให้สวยที่สุดด้วยกี่เพ้าสีแดง หรือสีทอง แม่เจ้าสาวจะประดับปิ่นทองและใบทับทิมให้ เพราะเชื่อว่าใบทับทิมจะช่วยให้คนรักและเอ็นดู และหมายถึงสาวบริสุทธิ์ได้ด้วย
จากนั้นถึงเวลาไหว้ฟ้าดิน เจ้าที่ และบรรพบุรุษ เสร็จแล้วเป็นการร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวเป็นมื้อสุดท้าย ซึ่งพ่อเจ้าสาวจะเป็นคนคีบอาหารมงคล 10 อย่างให้ลูกสาว พร้อมกล่าวความหมายของอาหารทั้ง 10 ให้ทราบ
เมื่อฝ่ายชายมาถึง ต้องผ่าด่านการกั้นประตูเงินประตูทองที่ฝ่ายหญิงกั้นไว้เพื่อเรียกอั่งเปา ก่อนจะเข้าไปมอบช่อดอกไม้ให้เจ้าสาวที่นั่งคอยอยู่
ก่อนออกจากบ้านบ่าว-สาวต้องรับประทานขนมอี๊ (บัวลอยสีชมพู) ด้วยกัน บางบ้านอาจให้ทานอาหารมงคล 10 อย่างอีกครั้ง เสร็จแล้วจึงลาพ่อแม่ไปขึ้นรถแต่งงาน (เป็นรถที่มีเลข 4 ในทะเบียน ไม่ก็ต้องเป็นรถที่มีอะไรเกี่ยวกับเลข 4 อาจเป็น 4 ล้านก็ได้...น่าอิจฉา) พ่อเจ้าสาวจะเป็นคนจูงเจ้าสาวไปที่รถ และกล่าวอวยพรพร้อมพรมน้ำด้วยกิ่งทับทิม โดยให้ญาติผู้ชายของฝ่ายหญิง ซึ่งจะเป็นพี่ชายน้องชายหรือญาติก็ได้ เดินถือตะเกียงนำหน้า เพื่อเป็นเคล็ดว่าจะได้มีลูกชายสืบสกุล คนถือตะเกียงอาจนั่งรถนำหน้ารถของบ่าว-สาว หรือนั่งข้างหน้าในรถคันเดียวกันก็ได้

พิธียกน้ำชาคาราวะผู้ใหญ่
พิธีการนี้ คุณจั๊ว-เอกวัฒน์ อมรพงศ์พิสุทธิ์ ลำดับขั้นตอนให้ฟังว่า เมื่อเจ้าสาวถึงบ้านเจ้าบ่าว ต้องนำตะเกียงไปตั้งไว้ในห้องนอนและจุดไฟให้สว่างไว้ตลอดคืน จากนั้นบ่าว-สาวต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษแบบเดียวกับที่ทำที่บ้านเจ้าสาว เมื่อเสร็จแล้วต้องมายกน้ำชาให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายพร้อมกัน
วิธีการยกน้ำชา เริ่มจากการจัดที่นั่งให้ผู้ใหญ่โดยให้คุณพ่อเจ้าบ่าวนั่งด้านซ้ายของคุณแม่ จากนั้นบ่าว-สาว คลานเข่ายกถาดชาที่มีถ้วยชา 2 ใบรินน้ำชาเตรียมไว้แล้วยกให้คุณพ่อคุณแม่ ท่านจะหยิบถ้วยน้ำชาขึ้นดื่มกัน โดยจะจิบแค่นิดหน่อย ห้ามจิบหมดถ้วย เพราะถือว่าน้ำชาที่เหลือมอบเป็นทุนกลับไปให้บ่าว-สาว (แต่บ่าว-สาวไม่ต้องนำมาดื่ม ส่วนใหญ่นิยมเทกลับไปในกา) จากนั้นจึงยกย้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ท่านอื่นตามลำดับความอาวุโส แต่ทุกครั้งที่ยกน้ำชา ต้องรินชาใส่ถ้วย 2 ใบทุกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่ที่คู่ชีวิตเสียไปแล้ว แต่แทนที่ผู้ใหญ่จะดื่มเองทั้ง 2 ถ้วย ก็ดื่มแค่ถ้วยเดียว ส่วนผู้ใหญ่ที่คู่ชีวิตยังมีชีวิตอยู่แต่มาไม่ได้ ก็ให้ดื่มทั้ง 2 ถ้วย เมื่อผู้ใหญ่ดื่มแล้วจะให้ศีลให้พร และมอบเงินทองให้คู่บ่าว-สาวโดยใส่ไว้ในถาด จากนั้นบ่าว-สาวรับประทานขนมอี๊ร่วมกันเป็นเสร็จพิธี
ลักษณะของกาและถ้วยชาที่เหมาะในพิธียกน้ำชา ต้องเป็นถ้วยชาแบบจีน ไม่ควรใช้ถ้วยชาที่มีหู เพราะเป็นถ้วยชาแบบฝรั่ง และควรมีถาดในการยกน้ำชาด้วยทุกครั้ง ส่วนชาที่ใช้ในพิธีจะเป็นชาจีนหรือชาฝรั่งก็ไม่ผิดธรรมเนียมอย่างใด

เจ้าสาวกลับไปเยี่ยมบ้าน
หลังแต่งงาน 3 วันญาติผู้ชายของเจ้าสาวจะมารับเธอและสามีของเธอกลับไปเยี่ยมบ้าน เรียกธรรมเนียมนี้ว่า “ตึ่งฉู่” เจ้าสาวต้องเตรียมถาดผลไม้ติดมือกลับไปเยี่ยมบ้านด้วย เมื่อถึงบ้านต้องทำพิธียกน้ำชาให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงเป็นการคาราวะ และหลังจากนั้นจะเป็นการเลี้ยงฉลองเพื่อต้อนรับลูกเขย

 


ที่มา นิตยสาร WE http://women.sanook.com/wedding/plan/plan_50927.php


รับจัดโต๊ะจีนนอกสถานที่ สอบถามรายละเอียด โทร. 081 299 5883, 081 294 3741  You are visitor no. 4,414,936  จำนวนผู้เยี่ยมชม : 4
E-commerce Solutions by BangkokDomain.com   ®